WELOVEMAHIDOL

เราเป็นหนึ่งกลุ่มของ นักศึกษา ของ "มหิดล"หนึ่งกลุ่มของหนุ่ม สาว ผู้เคยใช้ชีวิตปีหนึ่ง ใน มหิดล ศาลายาหนึ่งกลุ่มของ ควาทรงจำ ที่เคยไหลเวียน ณ มหิดล ศาลายา จึงเป็นที่มาของ "เรา รัก มหิดล" welovemahidol เพราะใครๆก็เคย มีความทรงจำดีดี
มหิดล ศาลายา ที่แห่งนี้เป็น เสมือนบ้าน มหิดล ศาลายา ที่แห่งนี้เป็น เสมือนกำลังใจ มหิดล ศาลายา ที่แห่งนี้เป็น เสมือนความทรจำ มหิดล ศาลายา ที่แห่งนี้เป็น เสมือนความรักอันหอมหวาน
เพราะเราเชื่อว่า นักศึกษา และ(อดีต)นักศึกษา ผู้ที่เคย ได้ใช้ชีวิต ช่วงเวลาที่ดีดี ณ มหิดล ศาลายา ณ ที่แห่งนี้ ยังคงมีเรื่องราว ความทรงจำที่ดี อันมีคุณค่ากับหลายคน แม้ว่า ปัจจุบัน มหิดล ศาลายา จะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดก็ตาม แม้ว่าตึกกิจที่ใครหลายคน เคยได้ใช้ช่วงเวลาที่ดี นั้นไม่มีอีกแล้ว แต่เชื่อเถอะว่า ความทรงจำทีดีดีที่เราทุกคนยังเหลืออยู่ ก็ยังมีใคร อีกหลายคนที่คิดถึงเช่นกัน
มหิดล ศาลายา

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

ที่มาแห่งตรา มหาวิทยาลัย มหิดล




นับตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๒ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานนามมหาวิทยาลัย “มหิดล” อันเป็นพระนามาภิไธยแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดังพระราชปรารภความตอนหนึ่งว่า “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ จึงให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น”
หลังจากนั้นล่วงมาได้ ๕๓ วัน ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ได้เรียกประชุมคณบดีเพื่อกำหนดตรามหาวิทยาลัยโดยที่ประชุมมีมติให้อัญเชิญตราส่วนพระองค์มาเป็นต้นแบบตรามหาวิทยาลัย และได้มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ สร.๒๓๐๑/๕๕๙๖ ลงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๒ เรื่อง ขอพระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล ทูล ราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราแก่มหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป
แบบร่างตราที่มหาวิทยาลัยมหิดลแนบเสนอไปทูลเกล้าฯ ในครั้งนั้น เมื่อค้นเอกสารจากงานจัดเก็บและรักษาเอกสาร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี พบแฟ้มเลขที่ ๔.๑.๑ ที่มาของสี ตรา ต้นไม้สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีเอกสารบันทึกข้อความ หัวกระดาษมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรี ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๒ ลงนามโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กษาน จาติกวนิช ความตอนหนึ่งว่า “ท่านคณบดีคุณหมอสุดได้เสนอตราของมหาวิทยาลัยและยืนยันว่าได้ขยายมาจากหัวกระดาษ จดหมายของท่าน (สมเด็จพระบรมราชชนก-ผู้เขียน) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ได้สั่งการตามหนังสือลงวันที่๑๘ เมษายน ๒๕๑๒ ให้ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำตราดังกล่าว เป็นสามสำเนาเพื่อเก็บไว้ และอีกส่วนถวายไปให้เพื่อทรงทอดพระเนตร
ในแฟ้มเอกสารดังกล่าวนั้นยังได้พบตรามหาวิทยาลัยมหิดลแบบแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบหมายให้นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนช่างภาพทางการแพทย์ (โรงเรียนเวชนิทัศน์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน-ผู้เขียน) เป็นผู้ออกแบบ โดยมีอาจารย์กอง สมิงชัย อาจารย์โรงเรียนช่างภาพทางการแพทย์เป็นผู้ช่วยร่างแบบ ซึ่งแบบตราดังกล่าวได้นำตราของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ซึ่งเดิมเป็นตรางูพันคบเพลิงในวงกลมซ้อนสองวง ระหว่างวงกลมมีภาษาบาลีเขียนด้วยอักษรไทยว่า“อตฺตานํ อุปมํกเร” ครึ่งล่างมีคำว่า “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” คั่นด้วยลายดอกประจำยาม นำมาปรับใช้โดยนำตรางูพันคบเพลิงออก แล้วอัญเชิญตราส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชบิดาเข้าแทน และเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้คงภาษาบาลีคำว่า“อตฺตานํ อุปมํกเร”ไว้ เมื่อออกแบบเสร็จแล้วจึงนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัย
จากการสอบถาม ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ที่ปรึกษาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญในพระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ให้ข้อมูลว่า ตราที่เสนอทูลเกล้าถวายในครั้งนั้นเป็นตราประจำพระองค์ ซึ่งเป็นตราประทับในหนังสือส่วนพระองค์และสมุดบันทึกคำสอนในสมเด็จพระบรมราชชนก และตราประจำพระองค์นี้นั้นถือเป็นตราประจำพระองค์ขององค์ผู้เป็นต้นราชสกุล “มหิดล” จึงถือว่าตรานี้เป็นตราประจำราชสกุลมหิดลอีกด้วย
เหตุที่ตรามหาวิทยาลัยมหิดลแบบแรกยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันนั้น สืบเนื่องมาจากศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีดำริให้ศาสตราจารย์นายแพทยสุด แสงวิเชียร จัดทำตราดังกล่าวเป็น ๓ ตรา อัดลงบนกระดาษที่หนาพอตามเอกสารบันทึกข้อความหัวกระดาษมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น คาดว่าจะส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งตรา และถวายสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี พระยศขณะนั้น-ผู้เขียน) อีกหนึ่งตรา
โดยตราที่ส่งไปถวายสมเด็จพระราชชนนี ฯ นั้นได้ทรงให้เลขานุการในพระองค์ มีหนังสือจากวังสระปทุม ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๒ เรียน ท่าน อธิการบดี ความว่า “ทรงมอบเรื่องไว้ที่สำนักราชเลขาธิการเรียบร้อยแล้ว ขอให้ท่านได้ติดต่อกับสำนักราชเลขาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป”
ส่วนตราอีกหนึ่งที่ได้เสนอทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอ พระบรมราชวินิจฉัยไปนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกพิเศษประจำสำนักพระราชวังเพื่อเป็นต้นแบบในการปรับแก้ไขตรีและพระมหามงกุฏของตราให้เป็นแบบไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ มีหนังสือสำนักราชเลขาธิการ เรื่อง พระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ รล ๐๐๐๒/๒๙๗๙ ความว่า “ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทาน ตรามหาวิทยาลัย ความแจ้งอยู่แล้วนั้น ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานตรามหาวิทยาลัย ตามแบบตราที่แนบมาพร้อมหนังสือนี้”
ทั้งหมดนี้คือเหตุแห่งที่มาของการพระราชทานตรามหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราประจำพระองค์ของสมเด็จพระมหิตาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้แก่พวกเราชาวมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันประกอบไปด้วยพระเมตตาที่ทรงพระราชทานแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างหาที่สุดมิได้ ดังความในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสเสด็จฯ ทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๙ กรกฏาคม ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งว่า
“และโดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ถือต่างเป็นลูกของท่าน ก็นับว่าเรามีสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เพราะว่าเป็นลูกของท่านเหมือนกันและนับได้ด้วยว่ามีพี่น้องจำนวนมากน่าชื่นใจ คนที่เป็นพี่น้องกันควรช่วยกันเสมอ มีความสามัคคีกัน เพื่อที่จะให้วงศ์ตระกูลชื่อเสียงของตนดี สร้างสรรค์ให้ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้า”
พวกเราชาวมหาวิทยาลัยมหิดทุกคนควรน้อมนำพระบรมราโชวาทในครั้งนี้ ใส่ไว้ เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตราบนิจนิรันดร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น